รีวิว NAD C388 : Hybrid Digital DAC Amp.

8193 Views  | 

อินติเกรตเตด แอมป์ของ NAD นั้น น่าจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมและสร้างชื่อเสียงให้ NAD มาโดยตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ NAD 3020 รุ่นแรก จนมาถึงปัจจุบันนั้น บอกได้เลยว่า NAD ออกแอมป์มา “ดัง” ทุกซีรีส์ เรียกว่ามีตัวตายตัวแทนกันมาตลอด

อย่างผม ตัวผมเองนั้นได้เล่นได้ลองแบบจริงๆจังๆ ผ่านอินติเกรตเตด แอมป์ NAD มาแทบนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ 3020 รุ่นแรก, 3020e, 3225PE, 3100, 3400, 302, 304, 317 จนมาถึงยุค C Series C320, C340, C350, C 325BEE, C 326BEE, C 356BEE, C 375BEE, Silverline S300, Masters Series M3 แล้วก็ย้ายมาฝั่ง Digital Amp. C 390DD, M2 จนถึงตัวจิ๋วๆ D3020, D7050 ก็ได้ลองมาหมด

เยอะจริงๆนะครับ ซึ่งแต่ละรุ่นที่ผมบอกมานั้น บอกได้เลยว่าเป็นอินติเกรตเตด แอมป์ ที่มีคุณค่าสูง เล่นได้อย่างสบายใจ และมีความคุ้มค่าในตัวเองของมันเป็นอย่างมากจริงๆ ไม่เชื่อถามเจ้าของแอมป์แต่ละรุ่นที่ร่ายมาเถอะครับ ว่ามันมีดีอะไร



จนมาวันนี้ ก็ถึงอีกคราวที่ NAD ออกอินติเกรตเตด แอมป์ รุ่นใหม่ออกมา ที่เรียกได้ว่า “พลิก” ความเป็น Classic Series ในทุกด้าน ตั้งแต่รูปร่างหน้าตา คอนเส็พท์ การออกแบบ จนถึงเทคโนโลยีในการออกแบบ ซึ่งผมก็โชคดีมากที่เครื่องชุดแรกที่มาถึงเมืองไทย ก็ได้รับการส่งตรงมาลองกัน แกะกล่องกันเป็นคนแรก และได้ใช้ชีวิตร่วมกับแอมป์ใหม่นี้นานร่วมสองเดือน ลองเล่นสารพัด จนบอกได้ว่า นี่ก็จะเป็นอีกหนึ่งแอมป์ที่ขึ้นทำเนียบแอมป์ชั้นเยี่ยมจาก NAD ได้อีกหนึ่งรุ่นสบายๆ

New NAD Classic Series

NAD C 388 นั้น มีความเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายอย่าง แบบแทบจะเรียกได้ว่าหมดจด เริ่มจากภายนอกที่เปลี่ยนไปมากมาย จากแอมป์ทรงมาตรฐาน มีปุ่มมาตรฐาน ไล่จากซ้ายไปขวา มีเปิด/ปิด, ทุ้มแหลม, ซีเล็คเตอร์ และโวลูม แบบหลับตาคลำได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นแผงหน้าที่เรียบสุดๆ โดยมีแค่โวลูมขนาดใหญ่ทางด้านขวา, ตรงกลางเป็นจอ LCD สีสันสดใส และด้านซ้ายเป็นปุ่มเลือกการปรับแต่งทรงกลม และปุ่มเพาเวอร์เปิด-ปิดเท่านั้น เป็นความเรียบง่ายที่สวยงามด้วยหน้าจอแอลซีดี ทำหน้าที่เป็นดิสเพลย์ให้เลือกปรับแต่งค่าต่างๆผ่านทางนี้ได้ ตัวถังนั้นมีความแข็งแรงมากกว่ารุ่นเก่าๆ แผงหน้าเป็นอะลูมิเนียมหนาขึ้น ใช้สีเทาเข้มจนเกือบดำ เข้มกว่ารุ่นเดิมมาก ทำให้โดยรวมแล้ว C 388 เป็นเครื่องที่มีความเข้ม ขรึม ดูสง่า มีราคาขึ้นเยอะ



ทางด้านหลังมีช่องเสียบต่างๆที่ติดเครื่องมาคือ ภาคขาเข้า สามารถต่อสัญญาณได้ทั้งดิจิทัล และอะนาล็อก โดยดิจิทัลนั้นสามารถต่อได้คือ ออพทิคัล 2 ชุด, โคแอกเชียล 2 ชุด (ไม่มีช่อง USB) ซึ่งความสามารถในการรับสัญญาณดิจิทัลนั้น ทำได้สูงสุด 24/192 ทางด้านอะนาล็อกนั้น ต่อไลน์อินพุทได้ 2 ชุด และที่กลับมาเพิ่มกันเป็นมาตรฐาน เพราะเทรนด์อะนาล็อกกำลังมาแรงมาก ก็คือมีช่อง Phono MM สำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงอีก 1 ชุด พร้อมรับสัญญาณ Bluetooth AptX ได้โดยมีเสาอากาศในตัวแบบถอดได้

และนอกจากช่องแบบฟิกซ์ที่ติดมาให้นั้น C 388 ยังมีช่อง MDC Upgrade มาให้อีก 2 ช่อง ซึ่งสามารถใช้ MDC Module มาตรฐานของ NAD ที่ออกมาก่อนหน้านี้ได้ เช่น BluOS Module เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเล่น Network Audio Streaming ได้อีกด้วย (MDC BluOS มีจำหน่ายแยก)

นั่นคือสิ่งที่เห็นจากภายนอก ส่วนภายในนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนที่เรียกได้ว่าพลิกไปหมดจาก Classic Series รุ่นก่อนหน้านี้ไปทั้งหมด เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ Classic Series หันมาใช้ภาคขยายแบบ Class-D นั่นเอง ซึ่งภาคขยายที่ใช้นั้น เป็นภาคขยายที่เรียกว่า Hypex UcD ซึ่งเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในแอมป์ NAD D3020 นั่นเอง แต่ภาค Hypex ที่ใช้ใน C 388 นี้ เป็นตัวที่ให้กำลังขับสูงขึ้นไปอีก และได้รับการปรับแต่ง ปรับจูนเสียงกันใหม่หมด โดยทีมงานออกแบบของ NAD เอง โดยทางวิศวกรของ NAD นั้น ใช้เวลาหลายปีที่จะทำแอมป์คลาสส์-ดี ที่ให้คุณภาพเสียงที่เอาชนะคลาสส์-เอบี ให้ได้ โดยได้ข้อดีมาเต็มๆ ไม่ว่าการทำงานที่เสถียร, เที่ยงตรง, ไร้ซึ่งความเพี้ยน, ไม่สูญเสียพลังงานไปกับความร้อน, กำลังสำรองดีเยี่ยม, กินไฟต่ำ, มีความสงัดเงียบ และที่สำคัญที่สุดคือให้การตอบสนองที่ราบเรียบราวกับไม้บรรทัดกันเลยทีเดียว

ซึ่งตรงนี้ไม่มีอะไรมาวัดกัน นอกจากการฟังครับ!


ทดลองเล่น

แม้จะไม่ได้มีหม้อแปลงใหญ่ในเครื่องก็ตาม แต่ C 388 นั้นก็มีน้ำหนักที่มากเอาเรื่อง ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างตัวถังที่แข็งแรงแน่นหนามากๆ งานสร้างภายนอกนั้นดีกว่าคลาสสิครุ่นเดิมๆเยอะมาก ดีจนเกือบจะพอไปเทียบกับมาสเตอร์ ซีรีส์ ได้เลยด้วยซ้ำ ผมเองนั้นไม่ได้แกะเปิดฝาเครื่องมาดู แต่เท่าที่มองเข้าไป เห็นแผงวงจรหลักๆที่จัดวางไว้เป็นระเบียบเรียบร้อยดี สายไฟภายในก็ได้รับการเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยดีมาก งานสร้างเนี้ยบทั้งภายในภายนอก

ขั้วต่อลำโพงเป็นแบบไบน์ดิง โพสท์ สีสันมาแปลก เพราะเป็นสีฟ้ากับแดง บางคนงงๆว่าทำไมไม่เป็นดำกับแดง ผมก็ว่ามันก็แค่สี เอาเป็นว่าเห็นสีแดงก็เป็นขั้วบวกเสมอๆละกันนะครับ ส่วนสีฟ้าเป็นขั้วลบ ก็ต่อสายลำโพงให้ถูกต้อง มาถึงตรงนี้ มองดูข้างหลัง ความคลาสสิค ที่หายไปเห็นจะเป็น ไม่มีปุ่ม Soft Clipping ให้เห็นกันอีกแล้ว เข้าใจว่าเทคโนโลยี Hypex ที่ใช้นี้ ไม่กลัวเรื่องคลื่นหัวขาดความเพี้ยนเวลาเปิดดังมากๆแบบแอมป์คลาสส์-เอบี อีกต่อไปแล้ว (เพราะการทำงานมีความเพี้่ยนต่ำจนวัดแทบไม่ได้)

เมื่อต่อสายลำโพงได้ก็เสร็จแล้ว ก็เข้าหน้าจอปรับแต่งอะไรเล็กน้อยๆ การปรับแต่งหากจะทำผ่านรีโมทก็ได้ จะทำจากหน้าปัดก็ได้ ด้วยการกดปุ่มวงแหวนด้านบน เข้าเมนูหน้าจอ ที่เลือกการปรับแต่งพื้นฐาน เช่น เลือกแหล่งโพรแกรม, ปรับทุ้มแหลม, หรี่ไฟหน้าจอ รวมถึงเลือกการทำงานว่าจะเล่นแบบ 2.1 (คือ C 388 สามารถต่อสับ-วูฟเฟอร์ได้) หรือแบบปกติ แค่นั้นเอง ต่อสายไฟแบบถอดได้ เปิดสวิทช์ด้านหลัง จากนั้นก็ใช้รีโมทเลือกแหล่งโพรแกรม แล้วก็สามารถฟังเพลงกันได้แล้วครับ

เครื่องที่ผมได้มานี้ ยังไม่มี BluOS MDC ใส่มาให้ ผมจึงทำการทดลองฟังแบบยังไม่เรียกว่าเต็มร้อยนัก เพราะแหล่งโพรแกรมหลักในการฟังแบบ Hi-res คือ PC นั้น จะต้องต่อสายยูเอสบีไปเข้าที่  แต่ถ้าเราดูดีๆที่ C 388 นั้นไม่มีช่อง USB Type B ที่เอาไว้ต่อกับพีซีมาให้ด้วย ทำให้ไม่สามารถต่อพีซีตรงไปเข้าที่ C 388 ได้ ซึ่งในอนาคตผมไม่แน่ใจว่าทาง NAD จะออก MDC Module USB มาให้หรือเปล่า แต่คิดไปคิดมา อ้อ ยูเอสบีไม่จำเป็นสิ เพราะวันหน้าถ้าคุณอัพเกรด MDC BluOS แล้ว คุณจะสามารถสตรีมไฟล์เพลงแบบไฮ-เรสผ่านเน็ทเวิร์คได้เลย ถึงตอนนั้นเราก็จะสามารถสตรีมไฟล์เพลง 24/192 ผ่านเน็ทเวิร์คได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเสียบสายยูเอสบีให้ดร็อพและเปลืองกันเปล่าๆ

ดังนั้นบอกเลยครับ หากจะเดินสายไฮ-เรส “ต้อง” อัพ BluOS Module ครับ!!!

เพราะนอกจากจะทำให้คุณเอ็นจอยกับการฟังเพลง 24/192 จากคอมพิวเตอร์ (แบบไม่ต้องเดินสาย) แล้ว สิ่งที่มาด้วย ไม่ว่าจะเป็นขีดความสามารถในการเล่นแบบ Multi-room หรือการเพลงออนไลน์ โดยเฉพาะกับฟัง Tidal Master MQA ที่ให้เสียงสุดยอดจากการสตรีมมิง ในตอนนี้แล้วนั้น ก็จะทำให้การลงทุนคุ้มค่าสุดๆเลยทีเดียว
ดังนั้นเมื่อผมยังไม่ได้อัพ BluOS ก็เลยฟังกันแบบ “เหมือน” ทดสอบแอมป์มาตรฐานกันก่อน คือ ฟังผ่าน DAC ภายนอกที่ต่อไปที่ C 388 และอีกแบบคือการฟังจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง เพื่อทดสอบภาค Phono ของ C 388 กัน 

เสียง

เปิดเบอร์น C 388 อยู่นานเป็นสัปดาห์ จากนั้นเริ่มฟังกันแบบง่ายๆก่อน ช่วงแรกๆ เรียนตรงๆว่า เสียงจาก C 388 นั้นมันเหมือนมีม่านบางๆมาคลุมเอาไว้อยู่ ทำให้เนื้อเสียงออกหยาบๆ มิติดูคลุมเครือ พลกำลังดูตื้อๆ ผมพยายามที่จะหาทางที่จะทำให้เสียงออกมาเป็นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ที่สุด จนตอนหลังเอะใจอยู่หน่อย ที่เสาอากาศรับ Bluetooth ด้านหลัง ซึ่งปกติผมเป็นคนที่เชื่อในเรื่องการรบกวนของสัญญาณวิทยุอยู่แล้ว จึงได้ลองหมุนเอาเสาอากาศบลูทูธออกไป เท่านั้นเอง เสียงที่ได้ออกมานั้น ออกมาดีขึ้นในทุกด้านอย่างฟังออกเลยทีเดียว ไม่ว่าชิ้นดนตรีที่แยกแยะดีขึ้น ความคลุมเครือที่บอกไว้ก่อนนั้นหายไป ความหยาบหายไป เบสส์กระชับ การสวิงเสียงดีขึ้น คือดีขึ้นหมดทุกจุดเลยก็ว่าได้ (ยิ่งกับภาคโฟโนยิ่งชัดครับ)

ผมจึงแนะนำตรงนี้เลยครับ ว่าหากต้องการเสียง 100 เปอร์เซ็นต์จริงๆจาก C 388 ผมแนะนำให้เอาเสา Bluetooth ออกครับ

ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าบลูทูธนั้น เป็นอะไรที่เอาไว้ใช้งานฟังเพลงเพื่อความสะดวกและง่ายอยู่แล้ว มันเหมาะกับระบบง่ายๆ ลำโพงตั้งโต๊ะแบบมีแอมป์ในตัว เช่น NAD VISO ซึ่งเน้นความสะดวกสบายและง่ายเป็นหลัก ส่วนกับชุดแยกชิ้นเช่นนี้ คุณภาพเสียงจากการฟังบลูทูธนั้นสู้การฟังแบบตรงๆ หรือสตรีมไม่ได้อยู่แล้ว คือหากในระบบมี BluOS ฟังสตรีมมิงอยู่แล้ว คงไม่มีใครต่อบลูทูธ จริงๆก็โอเค แต่เราก็เตือนตัวเองว่า หากวันไหนอยากฟังแบบเอาจริงเต็มร้อย ก็ไปถอดมันออกแบบนั้น ผมก็ว่าโอเคละครับ ผมว่ามันไม่ยากลำบากอะไรครับ แค่จำไว้ว่าอยากจะได้เสียงเต็มที่ ก็ถอดออก หากเอาง่ายก็เสียบไว้ แค่นั้นเองครับ (หรือหากอยากเต็ม 100 ตลอดพร้อมๆกับฟังบลูทูธด้วย ก็ลองหาตัวรับบลูทูธแยกชิ้นดีๆ อย่าง iBT300 มาใช้แยก และต่อสาย Optical ยาวๆสักสองเมตร แยกออกมาห่างตัวเครื่องก็ได้แล้วครับ iBT300 ราคาไม่แพงครับ)

ดังนั้นเงื่อนไขการฟังทดสอบนี้คือผมจะถอดเสาบลูทูธออกครับ

    สำหรับคนที่เป็นแฟนแอมป์ NAD มานานนม ก็คงจะเห็นคล้ายๆกับผมว่า เสียงของแอมป์ NAD นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตั้งแต่ NAD 3020 ที่ให้เสียงอิ่มๆ นุ่มๆ เบสส์หนาๆ กลางแหลมไม่ค่อยใสมากมายอะไร เพราะตอนนั้นแหล่งโพรแกรมยังไม่ไฮ-เรส อะไรมากมาย แอมป์ต้องประนีประนอมกับความใสไปบ้าง จนกระทั่งถัดมารุ่นต่อๆมา เสียงของแอมป์ NAD ก็จะเปิดความใส ความชัด ความไว ไดนามิค มากขึ้นเรื่อยๆตามยุคสมัยที่แอมป์ ต้องปรับตัว ให้สามารถที่จะ “ตีแผ่” รายละเอียดของแหล่งโพรแกรมที่พัฒนาขึ้นมามากมายมหาศาลให้ได้ จนหลังๆแฟนๆก็บอกได้ว่า แอมป์ NAD รุ่นหลังๆ เสียงไม่หนานุ่มเหมือนก่อนแล้ว

กับ C 388 ก็เช่นเดียวกัน แนวเสียงที่ได้ยินออกมานั้น หากจะบอกว่านุ่มหนา อ้วนอิ่มแบบ 3020 ก็คงไม่ใช่ (แบบนั้นรายละเอียดไฮ-เรส คงหายหมด) แต่จะบอกว่าเป็นแอมป์ให้เสียงสดเปิดโปร่ง แบบแจงออกมาทุกเม็ด ก็คงไม่ใช่อีกเช่นเดียวกัน จะบอกว่าเป็นแอมป์ ให้เสียงเป็นกลาง แฟล็ทเรียบเป็นมอนิเตอร์จัดๆก็คงไม่ใช่อีก ผมเองก็พยายามจะหาคำมาบรรยายสไตล์เสียงของแอมป์เครื่องนี้อยู่นาน ก็ยากที่จะบอกสไตล์ออกมาชัด

แต่หากจะบอกเป็นความรู้สึกก็คงจะบอกได้ว่า นี่เป็นแอมป์ที่ให้เสียงที่ฟังเพลงได้เพลินมาก ฟังได้ยาวมาก ฟังได้เรื่อยๆตลอด และเป็นแอมป์ที่ให้เสียงเป็นดนตรีได้น่าพึงพอใจมากๆ

ในแง่ Sonic Performance เอาแบบนั่งฟังจริงจังแบบคอออดิโอไฟล์ NAD C 388 นั้นให้ขนาดวงที่กว้างขวางเป็นอิสระเป็นอย่างมาก ความเป็นสามมิติ ในการสร้างรูปวงดนตรีออกมานั้น เป็นความโดดเด่นเป็นสง่าที่เหนือชั้นกว่าคลาสสิค ซีรีส์ ทุกตัวที่ผมได้ลองมา เวทีเสียงแผ่กว้าง และลึกเป็นสามมิติ อย่างโดดเด่น การแยกแยะ ชิ้นดนตรีทำได้เลิศ ชิ้นดนตรีต่างๆมีบรรยากาศห่อหุ้มชัดเจน สมจริง ไม่ว่าจะเป็นวงออร์เคสตรา ที่ถอยหลังลดหลั่นกันไปทางด้านหลัง เหมือนลำโพงหายไป (PSB Imagine T3) กว้างจนหลุดออกไปจากขอบลำโพงทั้งซ้ายและขวา ช่วยจำลองรูปวงดนตรีออกมาได้ดียิ่ง จนไม่อาจจะคิดได้ว่ามากจากแอมป์ราคาไม่ถึงครึ่งแสนเช่นนี้ เพราะแอมป์เกินแสนหลายๆเครื่องที่ผมฟังมาก็ไม่อาจทำได้เช่นนี้

กับดนตรีแจสส์เหมือนกัน การวางรูปวงมันแยกแยะชัดเจน ผมเป็นคนแปลก แบบขวางโลก ในขณะที่นักฟังแจสส์แบบสะสมส่วนใหญ่ คลั่งไคล้ผลงานบันทึกเสียงของ Rudy Van Gelder ที่ฝากไว้กับ Blue Note ในยุคเสียงแบบโมโนกันจนแผ่น LP ราคาขึ้นไปเป็นแสนๆบาท ตัวผมกับชอบซะเหลือเกินกับการบันทึกเสียงสเตรีโอของ RVG ที่แยกแยะเด็ดขาด วางวงชัดเจน เสียงกลองทางลำโพงขวามันชัดนัก เปียนโนอยู่ทางซ้ายหากเล่นผ่านซิสเต็มดีๆก็แทบจะเห็นภาพกันเป็นหลังๆ เบสส์เล่นตามออกมาให้เสียงทุ้มแผ่ลงพื้น กระจายแบบไม่มีไดเร็คชันตามหลักทุกประการ ซึ่งกับการบันทึกแบบนี้  C 388 ถ่ายทอดออกมาได้ไม่มีตกหล่น ไม่มีความรู้สึกว่า “ไม่ถึง” แต่ประการใด มีแต่ความรู้สึกเพลิดเพลิน สนุกไปกับ เสียงดนตรีที่ฟังอยู่

หรือกับแผ่นที่บันทึกเสียงแบบโมโนมาก็เถอะ แทร็คโปรดอย่าง If I Were a Bell ของ Mile Davis (Relaxing with Miles Davis: Prestige 7129) กับ The Great Quintet ในยุค 50-60 ของ Miles ได้รับการถ่ายทอดผ่านระบบที่มี C 388 เป็นแกนกลางออกมาได้ถึงรส แม้การบันทึกเสียงจะเป็นโมโน แต่กลุ่มวงก็ใหญ่โตเต็มช่วงตรงกลางระหว่างลำโพง และมีการ “แยกแยะ” กันอยู่ในนั้นอย่างชัด ที่สำคัญ เสียงไล่เรียงถอยหลังลงไปจนแทบจะเห็นรูปฮอลล์ การบันทึกเสียงกันเลยก็ว่าได้

คือหากจะให้บรรยายแนวเสียงของแอมป์เครื่องนี้ ผมคงบอกได้อย่างเดียวว่าเป็นแอมป์ที่ให้เสียงเป็นกลางมาก แต่ความเป็นกลางในที่นี้ ไม่ใช่เสียงแบบ Flat ที่ตีความหมายถึงเสียงแบบเรียบๆ ตรงๆ จืดๆหน่อยแบบนั้น แต่เป็นกลางในที่นี้ของ C 388 คือความพร้อมที่จะเปลี่ยนแนวเสียงไปกับแผ่นต่างๆที่เราเล่นผ่านมันไป เหมือนกิ้งก่าเปลี่ยนสีไปตามสิ่งแวดล้อม เช่น เมื่อเล่นเพลงแจสส์เก่าๆ มันก็กลายเป็นแอมป์วินเทจ, เล่นคลาสสิคใหม่ๆก็กลายเป็นแอมป์ออดิโอไฟล์, เล่นเพลงร้องไฮ-เรสก็ออกมาชัดใสแบบที่หลายคนชอบ, เล่นเป็น EDM ก็ปล่อยเบสส์ตุ้บๆออกมาได้ถึงใจ

มันเป็นความเป็นกลางที่หาได้เฉพาะแอมป์ราคาแพงๆระดับไฮ-เอ็นด์เท่านั้น คือในความเชื่อของผมนั้น แอมป์ที่ดีมีหน้าที่ในการส่งต่อ “เสียงต้นทาง” จากแหล่งโพรแกรมไปยัง “เสียงปลายทาง” คือลำโพง โดยไม่มีการบิดพลิ้ว แต่งเติม หรือทำอะไรตกหล่นไประหว่างทางให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในที่นี้ผมว่า C 388 ประสบความสำเร็จอย่างสูง

ภาคโฟโน MM นั้นมีขีดความสามารถที่ดีอย่างน่าทึ่ง กับการทดสอบด้วยหัวเข็ม MC Phasemation PP-300 ขยายเกนด้วย Step Up Transformer Altec 4722 นั้น ภาคโฟโนของ C 388 สอบผ่านด้วยคะแนนสูงมาก เพราะให้ความสงัดเงียบได้ดีเยี่ยมยอด เรียกว่าเร่งเสียงดังแทบจะสุดก็มีเสียงซ่าออกมาน้อยมากจนหากไม่เอาหูไปแนบลำโพงก็คงไม่ได้ยิน เป็นภาคโฟโนที่ฟังแล้วก็รู้ว่าคนออกแบบไม่ได้แถมมากันง่ายๆ เพราะเสียงที่ได้มานั้นผมไม่เห็นว่ามันจะด้อยกว่าภาคโฟโนแบบหลอดที่ผมใช้อยู่เลย แถมเงียบสงัดดีกว่าอีก เสียงที่ถ่ายทอดหัวเข็มออกมาก็ราบเรียบ เป็นกลาง และสามารถใช้งานเป็นภาคโฟโนหลักได้โดยไม่จำเป็นต้องไปหาโฟโนภายนอกมาใช้ให้เปลือง

กำลังขับ 150 วัตต์ต่อข้างแบบ NAD นี่คงไม่มีลำโพงอะไรที่แอมป์รุ่นนี้ขับไม่ออกกระมังครับ กำลังดีจริง เร่งได้ดังบ้านสั่น ไดนามิคเยี่ยม พลังเสียงดี เบสส์ลงได้ลึกกระแทกกระทั้นเหลือใจ



สรุป

เมื่อแอมป์รุ่นนี้ออกมา ผมเชื่อเหลือเกินว่าแฟนเก่า NAD ต้องตั้งข้อสงสัย หรือร้ายกว่านั้นอาจจะเป็นข้อรังเกียจไปด้วยซ้ำ เมื่อการดีไซน์พลิกจากคลาสส์-เอบี ที่เราคุ้นเคย มาเป็น Digital Hypex แบบใหม่นี้ ไม่ผิดที่เราจะรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า “มันสู้ของเก่าไม่ได้หรอก”

ไม่ผิดที่จะคิดเช่นนั้น แต่ผิดหากคุณจะตัดโอกาสที่จะทดลองฟังอย่างเปิดใจ

เปิดใจในที่นี้คือลองฟังกันแบบไม่ต้องไปสนใจว่าแอมป์เครื่องนี้ออกแบบมาอย่างไร จะคลาสส์อะไรแบบไหนไม่ต้องไปสนว่าเซียนๆบางคนพอได้ยินว่าเป็นแอมป์ ดิจิทัล ก็ติเตียนต่อว่าสารพัด ทั้งๆที่ตัวเองไม่เคยแม้แต่ฟังเลยว่าโลกมันเปลี่ยนไปถึงไหนแล้ว

เอาเป็นว่าเวลาไปฟัง แค่สนแค่ว่ามันคือแอมป์ที่ออกมาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ในราคานี้เครื่องหนึ่งเท่านั้นพอ จากนั้นก็นั่งฟังไปเรื่อยๆกับเพลงที่คุณชอบ ฟังไปนานๆเรื่อยๆ ให้เวลาเยอะ ตัดอคติไปให้หมด
แล้วลองถามตัวเองครับ เสียงมัน “ดี” ไหม

ผมมั่นใจว่าคุณต้องบอกว่า “ดีมากกกกก” และหลายๆคนจะบอกเหมือนผมว่า “โ – ตรดีเลย”
แล้วยิ่งพอรู้ราคาขาย เทียบกับเสียงที่ได้ คุณจะบอกว่า “โ – ตร คุ้มเลย”


 

 

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy