4908 Views |
คนที่อยู่ในวงการเล่นเครื่องเสียงมานานระดับ 20-30 ปีอัพ นี่คงได้ผ่านการถกเถียงเรื่องราวของสายกันมาเยอะแล้วนะครับ ตั้งแต่สมัยแรกที่เริ่มมีสายลำโพงสำหรับเครื่องเสียงโดยเฉพาะออกมาขาย ก็มีการถกเถียงกันว่ามันไม่น่าจะมีผลอะไร ซึ่งก็ใช้เวลาพักใหญ่กว่าที่ทุกวันนี้ สายลำโพงและสายสัญญาณก็เป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่ามีสิ่งที่มีผลต่อเสียงในระบบ
พอมาอีกยุคหนึ่ง เราก็เริ่มเห็นสายไฟ AC นี่ก็สนุกครับ ตอนมีสายไฟเอซีสำหรับเครื่องเสียงออกมาแรกๆ ขนาดคนที่ยอมรับในสายลำโพงและสายสัญญาณก็ยังเบ้ปากกัน บอกว่า “เกินไป” หรือ “เฮ้ย จะมากไปหน่อยไหม สายไฟเนี่ย” หรือไม่ก็ออกแนวแซวๆว่า “เอาไปต้มน้ำร้อนคงเดือดเร็ว หรือเอาไปต้มกาแฟคงอร่อยขึ้นอีก” แต่พอได้เล่นได้ฟัง ก็ยอมรับกันอีกว่าสายไฟเอซีนี่มีผลต่อเสียง หลายคนยืนยันว่าเป็นการลงทุนทางสายที่คุ้มค่าที่สุด เพราะส่งผลต่อเสียงทั้งระบบด้วยเส้นเดียว
อ้อ อย่าลืมสายดิจิตอลนี่ก็เถียงกันหนัก บอกว่าดิจิตอลมัน 0101 มันจะไปมีผลอะไร ก็ว่ากันตามนั้น แต่คนที่ได้ลองสายดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นสายโคแอกเชียลหรือสายออพทิคัล ก็ยอมรับว่ามันมีผล เพราะแม้จะเป็น 0101 แต่การนำ 0101 ไปให้สุดทางโดยไม่โดนกวน โดยไม่มีการเหลื่อมล้ำทางเวลา เพื่อให้สัญญาณไม่ตกหล่นหายไปไหนนั้น ก็คือสิ่งที่ทำให้ได้คุณภาพเสียงในอย่างที่ “ควรจะเป็น”
โดยความเห็นส่วนตัว ผมว่าในเรื่องของสายนั้น “มีผล” กับเสียงของระบบแน่นอน จะดี จะเลว เป็นเรื่องของการออกแบบของแต่ละผู้ผลิต ใส่สายไปเสียงดีขึ้นมี เลวลงก็มี ไม่ค่อยเห็นผลก็มี (เพราะสายนั้นไม่ได้ออกแบบมาให้ดีไปกว่าสายธรรมดาๆที่แถมมากับเครื่อง) การเล่นสายจึงเป็นสิ่งที่นักเล่นเครื่องเสียง “เล่นได้” และสมควรเล่น แต่ต้องเล่นอย่างมีสติยั้งคิด จัดราคา จัดงบประมาณ ให้สมเหตุสมผลกับระบบ ใช้สายที่ผู้ผลิตออกแบบมาแบบมีหลักการเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ควอนตัม หรือเทคโนโลยี เรียกเองชื่อแปลกๆ แล้วขายราคาเป็นแสนเป็นล้าน ผมเห็นบางคนซื้อสายราคาแพงกว่าเครื่อง กว่าลำโพง ผมก็เศร้าใจ แม้มันจะดี แต่ลองถามตัวเองนะครับว่า “คุ้มไหม” เงินของท่านผมห้ามไม่ได้ สายหลายแสน หรือเป็นล้าน ผมเห็นพอเบื่อ ขายออกราคาตกกันเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วเสียดายเงินแทน คนช้อนซื้อนี่ยิ้มเลย
ดังนั้นสายเล่นได้ แต่อย่าเล่นจนขาดสติครับ
สายเพื่อการ Streaming
อย่างตอนนี้ พอแนวทางการเล่นเพลงแบบสตรีมมิงออกมา ก็มาสายกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นมาในวงการนักเล่นเครื่องเสียง ก็เริ่มมีออกมา ที่มีมาหลายปีแล้วก็เห็นจะเป็นสาย USB ที่ตอนแรกๆออกมาก็ดราม่ากันครับ ประมาณเดียวกับสายไฟตอนแรกๆแหละครับ แต่สุดท้ายตอนหลังๆก็ยอมรับกันว่า หากเล่นเพลงโดยต่อจากคอมพิวเตอร์ไปที่ DAC แบบ External แล้ว สายยูเอสบีดีๆมีผลต่อเสียงชัดเจน (ถ้าสายยูเอสบียี่ห้อนั้นๆออกแบบมาอย่างตั้งใจ ไม่ใช่เอาสายยูเอสบีงานคอมฯ มาตีแบรนด์ตัวเอง) อย่าง Supra ยูเอสบีนี่ ผมแนะนำเลย เห็นผลชัดๆดีขึ้นแบบถอดไม่ออก ที่สำคัญราคาไม่ได้แพงมาก
ซิสเต็มผมเองใช้สาย Supra ยูเอสบีตั้งแต่ออกมาใหม่ๆมานานมากแล้วครับ เป็นสายอะไรที่ขาดไม่ได้ และก็ว่าพอเพียงเหลือกินแล้ว ราคาขนาดนั้น เสียงขนาดนี้ ดีใจหาย พอมาวันดีคืนดี เห็น Supra ออกสาย LAN ออกมา ก็รีบบอกว่าเข้ามาเมื่อไหร่จะขอลองเล่นทันที แล้วก็ได้มา
สาย LAN ไว้ทำอะไร?
ตามปกติ สาย LAN (Local Area Network) มีเอาไว้ให้สัญญาณเน็ทเวิร์ควิ่งกันไปมาครับ ในระบบคอมฯ ก็คือสายที่จะเชื่อมโยงระหว่างคอมพิวเตอร์กับอินเทอร์เน็ต เร้าท์เตอร์ บ้าง หรือเป็นสายที่ให้คอมพิวเตอร์หลายๆเครื่องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันนั่นเอง (เหมือนสายสื่อสาร)
สำหรับวงการเครื่องเสียงฟังเพลงแบบสตรีมมิงนั้น สายแลนก็มีบทบาทในการใช้งานเหมือนกัน ก่อนอื่นเราต้องมาดูว่า สมมุติเราจะเล่นระบบสตรีมมิง เช่น Bluesound นั้น เราต่อเชื่อมตัวเครื่องสตรีมมิงให้รับสัญญาณจากอินเทอร์เน็ต เร้าท์เตอร์ เพื่อจะได้สตรีมเพลงจากผู้ให้บริการอย่าง Spotify หรือ Tidal ได้ โดยการต่อรับสัญญาณนั้นทำได้สองแบบคือ
การต่อไร้สายนั้นได้ความสะดวก สามารถวางเครื่องได้ห่างจากเร้าท์เตอร์ได้ วางต่างชั้นได้เป็นอิสระกว่าการใช้สายแลน แต่การต่อไวไฟนั้นก็มีข้อจำกัดในหลายเรื่อง ทั้งระยะ มุมอับสัญญาณ ระยะห่างความเร็วที่ไม่ทั่วถึงทีอาจจะทำให้การสตรีมมีสะดุด (โดยเฉพาะเมื่อต้องสตรีมไฟล์ไฮ-เรส 24/192) ความเสถียร ฯลฯ จนแม้กระทั่งผู้ผลิตเองก็แนะนำว่าหากเป็นไปได้ ให้ต่อสายแลนจะดีกว่าและเป็นการต่อเชื่อมที่แนะนำเสมอๆ “หากทำได้” เพราะผลที่ได้นั้นมันดีกว่าการต่อแบบไวไฟในแทบทุกด้าน
แล้วทีนี้สายแลนนั้น จริงๆในวงการเน็ทเวิร์คเป็นสายราคาถูกมากๆ เมตรหลักสิบ แล้วหากเรามาเปลี่ยนสายแลนเป็นสายที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งาน Audio ล่ะ? เสียงจะดีขึ้นไหม?
Supra LAN
ชื่ออย่างเป็นทางการของสายแลนจาก Supra นั้น คือ Supra CAT 8 STP Patch FRHF Blue Network Cable ว่าง่ายๆสั้นๆว่านี่คือสาย CAT 8 อันเป็นมาตรฐานขั้นสูงของสายเน็ทเวิร์คที่สามารถส่งสัญญาณที่มีแบนด์วิธสูงๆในปัจจุบันได้ทั้งหมด คือ ระดับมากกว่า 40 GB และแบนด์วิธสูงถึง 2,000 เมกะเฮิทซ์ หรือแปลง่ายๆว่าส่งสัญญาณภาพระดับสูง 4K/ 8K ได้สบายๆ จึงไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องการส่งสัญญาณดนตรีแบบไฮ-เรส ไม่ว่าจะสตรีมมาที่ความละเอียดเท่าใดก็ตาม
ตัวสายนั้นประกอบไปด้วยสายตัวนำขนาด 0.23/26mm 2/AWG แบบ OFC ห่อหุ้มกันการกวนด้วยแผ่นอะลูมิเนียมบางตลอดเส้น แล้วหุ้มไว้ด้วยฉนวน PE อีกรอบ ทำให้มีความแข็งแรงทนทานต่อการติดตั้ง ทนไฟได้ที่ระดับ E30 (30นาที)
ตามปกติ สาย Supra แลนจะขายกันแบบตัดจากม้วนตามความยาวที่ต้องการ แล้วเข้าหัวกันเอง โดย Supra มีหัว RJ45 เตรียมไว้ให้แล้ว เป็นหัวแลนชุบทองสวยงามดูดีทีเดียว
การใช้งานและคุณภาพเสียง
ผมวัดระยะความยาวของสายที่ต้องใช้ระหว่างอินเทอร์เน็ต เร้าท์เตอร์ ไปยังเครื่องเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์ ของผมได้ 6 เมตร ซึ่งถือว่าเด็กๆมาก เพราะสาย CAT8 นั้นลากยาวกันได้ 100 เมตร ผมจึงสั่งทาง Conice จัดการตัดให้ พอดีหัว RJ45 ของ Supra ของหมดพอดี ผมเลยเข้าหัวของ Telegartner ซึ่งเป็นหัว RJ45 ที่สายยี่ห้อแพงๆชอบใช้กันแทน (ตัวหัวราคาก็ไม่ได้แพงอะไรหรอกครับ หลักสองสามร้อย) เข้าหัวเสร็จก็ต่อด้านหนึ่งเข้าที่ไวไฟ เร้าท์เตอร์ ธรรมดาๆแบบแถมมากับ AIS Internet อีกด้านก็ต่อเข้าเครื่องเน็ทเวิร์ค เปิดสัญญาณแช่ไว้สักสองสามวัน ที่ผมไม่ฟังเพลงจากเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์ ใดๆทั้งสิ้น (เดิมฟังด้วยการต่อแบบไวไฟ) แต่แน่นอนว่ายังจำเสียงจากการต่อแบบไร้สายก่อนหน้านี้ได้ดี
เสียงแวบแรกที่เปิดฟังจาก Tidal คือ “เสียงดีขึ้นเยอะเลย” จริงครับ เสียงที่ได้ยินนั้นดีกว่าสมัยที่ต่อไวไฟเยอะเอาเรื่องเลย เยอะจนค่อนข้างตกใจเลยก็ว่าได้ คำถามแรกที่มีขึ้นมาคือ “มันเกี่ยวอะไร(ว่ะ)” แต่มันก็เกี่ยว (อ่ะ) ผมมองง่ายๆว่า การต่อสายแลนตรง มันลดการสูญเสียสัญญาณลงเยอะ เมื่อเทียบกับการมาทางไวไฟ สัญญาณตรงกว่า สูญเสียน้อยกว่า เสียงก็ดีขึ้น
ที่พบแบบไม่ต้องเงี่ยหูเลย คือเสียงกระชับ ชัดเจน จะแจ้งเด็ดขาดขึ้น เบสส์มีความกระชับ หนักแน่น เป็นตัวเป็นตนขึ้น เนื้อเสียงเข้มข้น แต่แฝงไว้ด้วยความอิ่มเนียน ลดความหยาบ ลดเกรนเสียง เพิ่มไดนามิค ความฉับไว ขึ้นอย่างเห็นๆได้ชัด
เสียงกลางสะอาด มีความชัดขึ้นรูปดีขึ้นแบบเห็นชุด รูปชิ้นดนตรี เสียงร้องมีโฟคัส ทำให้เห็นวง เห็นชั้นเชิงของการวางวงได้ดีขึ้น ชิ้นดนตรีนิ่ง กว้าง และลึกขึ้น ปลายเสียงแหลมทอดยาวขึ้น พลิ้วขึ้น สะอาดขึ้น บรรยากาศก็มาดีขึ้น
ว่าง่ายๆสั้นๆ เสียงดนตรีมีความสมจริงมากขึ้นในทุกจุด! ฟังดนตรีสตรีมมิงได้อารมณ์ และยังช่วยลดช่องว่างระหว่างการสตรีมลงจากการฟังไฟล์ไฮ-เรสได้ด้วย!
สิ่งที่พบและแปลกมากอีกอย่างคือ ตอนฟังไวไฟ ผมไม่ค่อยตื่นเต้นกับ Tidal เท่าไหร่ ผมฟังแล้วงั้นๆว่ามันไม่เห็นมันจะต่างจาก Spotify เท่าไหร่เลย แพงกว่าเปล่าๆผมเลยเลิกเป็นสมาชิกไปแล้ว ฟังแต่ Spotify แต่มาคราวนี้ผมลองย้อยกลับมาฟังใหม่ กลับพบว่าเสียง Tidal นั้นฟังดีกว่า Spotify เฉยๆเลย ดีกว่าเยอะด้วยจนก็งงๆว่า เพราะอะไร (ว่ะ) 555 ถ้าไม่ใช่สายแลนเส้นนี้ก็คงมองเป็นอื่นไปไม่ได้
และที่ต้องไม่ลืมพูดถึงคือผมมีความรู้สึกว่า Background Noise ลดลง พื้นเสียงสงัดขึ้น ฟังเพลงเพลินขึ้น ดีขึ้นจริงๆ
ทั้งหมดนี่มาจากสายเปล่าไม่รวมหัวเมตรละ 300 บาท!
สรุป
ผมว่า Designer รุ่นใหม่ของ Supra นี่เก่งขึ้นเยอะ!
ช่วงหลังผมลองสาย Supra มา ผมว่า Supra เริ่มหลีกหนีจากเสียง Signature เดิมของแบรนด์ คือใสโปร่ง ออกไปมากขึ้น Supra รุ่นใหม่ๆเติมเนื้อ เติมความอิ่มเอิบ อบอุ่น ลงไปเนื้อเสียงมากขึ้น ทำให้ได้เสียงที่ครบเครื่องน่าฟังมากขึ้นเยอะ ตั้งแต่สายยูเอสบีที่ผมฟังแล้วแปลกใจในเนื่อเสียง มาสาย LoRad ตัวใหม่เสียงเนียมอิ่มน่าฟังอย่างน่าแปลกใจ สายลำโพงรุ่นใหม่หลายคนฟังกันก็บอกเสียงดีมากๆใหญ่โตอลังการ แล้วก็มาสายแลนรุ่นนี้ ที่ก็บอกอีกครั้งว่า ใครที่มอง Supra ว่าเป็นสายเสียงบางๆใสๆเจือแห้งไว้นิดๆ ให้ลองมาฟัง Supra รุ่นใหม่ๆนี่ว่า ประสิทธิภาพเขาดีขึ้นเยอะ เสียงเขาครบเครื่องขึ้นมาก และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อเทียบคุณภาพแล้ว ราคาที่เขาขายกันมันเหมือนได้มาเปล่าๆฟรีๆจริงเอ้า!
อย่าง Supra แลนรุ่นนี้ ผมบอกเลยว่าตั้งแต่เล่นเครื่องเสียงมา ไม่เคยเจอสายอะไรในราคาเมตรละ 300 บาท ที่ให้เสียงดีเท่านี้ ให้พัฒนาการในน้ำเสียงได้ดีเท่านี้มาก่อน ผมไม่เคยเห็น มันคือที่สุดแห่งความคุ้มค่าอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ
ใครที่ลากสายแลนได้ ผมแนะนำ ลากเถิดครับ เอาสาย Supra เส้นนี้ไปต่อแทนแบบไร้สาย แล้วคุณจะพบว่าการสตรีมมิงเพลงนั้น เอาไว้ใช้ฟังแบบจริงๆจังๆได้ไม่แพ้ใคร