6009 จำนวนผู้เข้าชม |
วันก่อนได้มีโอกาสเจอคุณสุราช ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ Conice เรานี่เอง คือแวะเข้าไปหาจะขอยืมเพาเวอร์-แอมป์มาเล่นสักเครื่อง เพราะพอดีแอมป์หลักที่ใช้งานอยู่เกิดเสียต้องเข้าอู่ไป ตอนแรกกะจะเข้าไปยืม NAD D 3045 มาฟังอีกหน่อย เพราะติดใจชอบเสียงอินติเกรตเตด แอมป์ เครื่องนี้จริงๆ แต่บังเอิญไปสบตาพบเพาเวอร์-แอมป์รุ่นใหม่ล่าสุดของ NAD ตั้งวางอยู่ คุณสุราชก็เลยให้ยืมมาก่อน
ตอนที่ยืม ก็บอกว่าจะเขียนรีวิวให้ด้วยเลย แต่บอกตรงๆนะคุณสุราช หลังๆแอมป์ NAD รุ่นใหม่ๆเสียงโคตรดีไปหมด เอามาฟัง เอามาทดสอบนี่ดีจนสะดุ้งตังค์ในกระเป๋าไปหมดทุกเครื่อง ดีจนกลัวคนอ่านจะว่าผมเว่อร์ หลับหูหลับตาเชียร์ ซึ่งก็ไม่รู้จะทำยังไง ได้ยิน ได้ฟัง รู้สึกอย่างไร ก็เขียนไปตามนั้น อย่างC 268 ตัวนี้ พอฟังๆไปก็บอกว่า “เอาอีกแล้ววว” 555 ก็มันดีจริงๆนี่นา 555
C 268 เป็นเพาเวอร์-แอมป์ ที่ออกมาใน Classic Series ที่ให้กำลังขับปกติที่ 80 วัตต์ต่อข้าง ที่ 8โอห์ม บริดจ์โมโนได้ 300 วัตต์ ที่ 8โอห์ม ไดนามิค เพาเวอร์ ที่ 120 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม และ 200 วัตต์ ที่ 4 โอห์ม ตามลำดับ ซึ่งหากจะว่ากันไปแล้ว C 268 ก็คือภาคขยายที่อยู่ในอินติเกรตเตด แอมป์ รุ่น C 368 นั้นเอง โดยเป็นการตัดเอาภาคปรีแอมป์ของ C 368 ออกไป ซึ่งแน่นอนว่าการได้ทำงานเป็นเพาเวอร์-แอมป์ เดี่ยวๆไม่ต้องแบ่งภาคจ่ายไฟกับใคร ไม่ต้องกลัวการรบกวนใดๆ C 268 จึงสามารถทำงานในส่วนการขยายเสียงได้อย่างเต็มที่และเต็มประสิทธิภาพ โดยออกแบบมาให้ใช้งานหลากหลายคือ
NAD C 268 มาในตัวถังที่แข็งแรง บึกบึน แน่นหนา และหนักมาก แผงหน้าไม่มีอะไรนอกจากปุ่มปิด-เปิด ด้านหลังสามารถต่ออินพุทได้ทั้งแบบ Balanced XLR และ RCA (เลือกสวิทช์) สามารถปรับเกน ความแรงสัญญาณขาเข้าให้แมทช์กับปรีแอมป์ได้ ช่วยจูนเสียงให้ดีที่สุด โดยสามารถเลือกได้ทั้ง Fixed และ Variable มีระบบ Auto Sensing เปิดตัวเองเมื่อสัญญาณเข้า และปิดตัวเองเมื่อไม่มีสัญญาณเป็นเวลานาน (ปรับความไวในการรับสัญญาณได้) มี Line Out สำหรับต่อลักษณะ Chain คือออกไปที่ C 268 อีกตัวในระบบ Bi Amp ขั้วลำโพงเป็นแบบไบน์ดิง โพสต์ ขั้วสายไฟเป็นแบบ IEC 3 ขาถอดได้ เปลี่ยนฟิวส์ได้เลยจากด้านนอกไม่ต้องเปิดเครื่อง
การทำงานภาคขยายเป็น Hybrid Digital Module Hypex UcD ที่ได้รับการปรับจูนให้ได้สเปคและเสียงตามแนวทางของวิศวกร NAD แบบเดียวกับที่ใช้ใน C 368 ทุกประการ
การใช้งานและคุณภาพเสียง
ผมนำเอา C 368 มาแทนเพาเวอร์-แอมป์ ตัวเก่าของผม ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด เปลี่ยนแค่เครื่อง ปรีแอมป์ที่ใช้เป็นปรีแอมป์วินเทจของ Fisher ซึ่งเกนขยายขาออกมาค่อนข้างแรงเลย เคยเจอแอมป์รุ่นใหม่บางเครื่องจะเกิดอาการ Input Overload คือสัญญาณแรงไป เสียงพร่า C 268 ก็เช่นกันครับ ต่อทีแรกเสียงแตกพร่าเลยตกใจอยู่ โชคดีหลังเครื่องมีโวลูมให้ปรับเกนได้ ก็ปรับลดลงมา จนได้ระดับเสียงที่พอเหมาะ เสียงก็ไม่พร่าแล้วครับ ตรงนี้ต้องทำนะครับ อย่าตกใจหากเจออาการเช่นนี้ ให้ลองปรับระดับเสียงดูก่อนนะครับ
พูดถึงจุดตรงนี้ ผมพบว่าในเครื่อง C 268 ผมชอบเสียงที่มาจากช่อง Variable มากกว่าช่อง Fixed (ปกติจะกลับกัน) และการปรับเกนเสียงนั้นให้ลองปรับไปเรื่อยๆจนได้จุดที่ระดับเสียงออกมาพอเหมาะ และ “เสียงดีที่สุด” ครับ เพราะผมว่าในตำแหน่งความดังต่างๆนั้น มันจะมีอยู่จุดนึงที่ความแมทช์ของปรีและเพาเวอร์-แอมป์ จะลงตัวที่สุดและให้เสียงที่ดีที่สุด อันนี้ที่เขาเรียกว่า Level Matching หรือเปล่าผมไม่แน่ใจ แต่ก็พบว่ามันจะมีอยู่จุดหนึ่งที่ทุกเสียงจะลงตัวที่สุดครับ อันนี้ต้องลองปรับไปเรื่อยๆและฟังดูเอาครับ
หลังจากปรับเลเวลลงตัวเรียบร้อยแล้ว ผมก็พบว่ามันเป็นแอมป์ที่ใช้งานได้ง่าย สะดวก พอไม่ได้เปิดเพลงสักพักก็ปิดตัวเอง พอเพลงเข้าก็ติดเอง สะดวกและประหยัด แต่กับคนโบราณเช่นผมที่มีชอบเปิดเครื่องวอร์มไปเรื่อยๆ แม้ไม่ได้ฟังเพลงก็จะรู้สึกแปลกๆหน่อย กับอีกอย่างตอนที่เพลงขึ้น เครื่องเปิดแต่รอรีเลย์ทำงานนี้ หัวเพลงจะหายไปครับ
นอกจากจุดนี้ ผมบอกเลย แอมป์ตัวนี้ในระดับราคานี้ เสียงดีน่าตกใจจริงๆ จุดแรก ผมเอา C268 ไปแทนเพาเวอร์-แอมป์ หลอดที่มีราคารวมๆน่าจะสักสองเท่าของ C 268 แล้วผมไม่พบเลยว่าจะมีข้อไหนที่ C 268 จะด้อยกว่า แม้จะคาดเดาว่า C 268 น่าจะให้ความนุ่มนวลอบอุ่นสู้แอมป์หลอดไม่ได้-ก็ไม่-- เพราะเสียงที่ออกมาให้ได้ยินนั้น มันไม่มีความหยาบ ความเกร็งแข็ง ความแห้งใดๆของแอมป์ ดิจิทัล คลาสส์-ดี ออกมาให้ได้ยินเลย
ผมว่านาทีนี้ แอมป์คลาสส์-ดี ได้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางด้านเสียงไปแล้วล่ะครับ เพราะเสียงที่ได้ยิน นั้นมีความละเมียดละไมออกมาได้ไม่แพ้กันเลย และที่แน่ๆด้วยกำลังขับที่มากกว่า แรงปะทะ พลัง ไดนามิคจาก C 268 นั้นทำได้ดีกว่าด้วย และด้วยการฟังแบบไม่อิงใครหรือเทียบกับเครื่องอื่น ผมว่านี่เป็นอีกหนึ่งเพาเวอร์-แอมป์ที่ดีที่สุดเครื่องหนึ่งที่ผมได้ฟังมาในราคาไม่เกินแสนบาท
จุดเด่นที่ทำให้ผมชอบ C 268 มาก คือเสียงที่ใหญ่ สเกลเสียงกลางที่ใหญ่ ที่หลังๆไม่ค่อยเจอกับแอมป์รุ่นใหม่ๆ ตรงนี้ทำให้เสียงเครื่องดนตรีต่างๆ เสียงร้อง มีขนาดที่ใหญ่ สมจริง สร้างภาพหรืออิเมจจิง ออกมาให้เราเห็นด้านหน้าได้ชัด จะเรียกว่าขึ้นรูปมาชัดเจนก็คงไม่ผิด เสียงร้องทอดยาวไกลของ Linda Ronstadt จากเพลง What’s New นั้นทอดยาว สูงขึ้นไป จนแอบเป็นห่วงกลัวแกจะเจ็บคอไปนั่น เป็นเสียงร้องที่ออกมาไม่ได้แพ้แอมป์ Single Ended Class-A เลย หรือเสียงไวเบรโต แซ็กซ์ แบบฟืดๆๆ ของ Ben Webster จากแผ่น Gentle Ben นั้นก็ชัดเจนขึ้นรูปเห็นเป็นลมรอดลิ้นไม้ไผ่ของเทเนอร์ แซ็กซ์ ออกมาชัดเจน เสียงเปียนโนเอย อะไรเอย ออกมาดีไปหมด ผมชอบการที่สามารถถ่ายทอดรายละเอียดรอบๆเครื่องดนตรีออกมาได้อย่างดีจริงๆทำให้ความรู้สึกเข้าถึงเพลงแต่ละเพลงได้ดีมาก เสียงกลางนี่แหละครับที่ผมว่า C 268 นั้นให้ออกมาดีอย่างน่าทึ่งจริงๆ ใครชอบเพลงร้องต้องชอบครับ
จุดต่อมาที่ผมชอบ ผมว่าการเป็นแอมป์คลาสส์-ดี ที่ออกแบบมาดีมาก ความเพี้ยนต่ำมาก ทำให้ C 268 เป็นเครื่องที่ให้พื้นเสียงที่สงัด แบ็คกราวน์ด นอยส์ แทบไม่มีให้ได้ยิน ความเงียบสงัดนี้ ทำให้เหมือนเป็นการทำให้ภาพของเครื่องดนตรี รูปวง มีความชัดเจน ทำให้พื้นเสียงสงัด บรรยากาศออกมาดี การสวิงเสียงดี ปลายเสียงบรรยากาศดี
การโอบล้อมของเวทีเสียงก็เป็นอีกจุดที่ผมว่าแอมป์ NAD ยุคหลังๆทำได้ดีมากๆ กับ C 268 ก็เช่นกัน เวทีเสียงจะกว้างมาก แล้วตีวงโอบล้อมเข้าหาตำแหน่งนั่ง ทำให้เรามีความรู้สึกเข้าไปใกล้กับวงได้ดีกว่า เครื่องที่ให้วงแบบแผ่กว้างแต่ถอยออกไปอยู่หลังลำโพงออกไป แบบนั้นผมว่าฟังแล้วต้องชะเง้อ (ฮา) เหมือนไปดูคอนเสิร์ต แล้วซื้อตั๋วถูก (ฮา ฮา) แต่กับ C 268 จะเหมือนกับเชื้อเชิญเราให้ไปนั่งแถวกลางๆค่อนไปทางด้านหน้าหน่อย เวทีเสียงด้านซ้าย-ขวา จึงโอบเข้ามาหาเราได้ดีมาก บอกตรงๆว่าคุณสมบัติในแง่นี้นั้น ผมค้นหามานานมากแล้วก็เพิ่งเจอกับ C 268 นี่แหละ
โทนัล บาลานซ์ แนวเสียง ผมให้ออกไปทางดาร์คเล็กน้อย หลังๆใช้คำนี้กันเยอะ บางคนใช้คำว่าDark นี้เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่าทึบ แต่กับผม ผมให้ดาร์ค น่าจะหมายถึงเข้มขรึม เหมือนเวลาเราเข้าไปในคลับที่มีไฟสลัวๆหน่อย แต่พอวงขึ้นไปเล่น ก็จะมีแสงที่สาดส่องไปที่เวที ทำให้เราเห็นนักดนตรีแต่ละคนในวงได้ครบหมด นั่นแหละครับ ดาร์คในความคิดของผมน่าจะเป็นแบบนี้มากกว่า
เสียงแหลมมีความนุ่มนวล ไม่อยู่ในโทนสดกระจ่างแน่นอน ออกจะมีความราบเรียบ สะอาดเนียน เสียงกลางอย่างที่เรียนไว้แล้วคือ มีความอบอุ่น มีเนื้อ มีสเกลเสียงขนาดใหญ่ เปิดกว้างโหนได้สูง สะอาดเป็นธรรมชาติ ไม่เน้นความโปร่งทะลุทะลวง แต่เน้นอารมณ์ บรรยากาศ เสียงทุ้มมีน้ำหนักดี จังหวะความอิ่มได้ที่ดีใช้ได้ อาจจะไม่ทิ้งตัวลงลึกสุด แต่โอเค ดีเพียงพอสำหรับการฟังทั่วไปครับ เนื้อเสียงโดยรวมน่าจะตอบสนองเพลงได้หลากหลาย
กำลัง อันนี้มีเรื่องแปลกเป็นเพราะลำโพงผมความไวสูงมากเกือบ 100 ดีบี ซึ่งปกติผมพบว่าลำโพงความไวสูง ไม่ค่อยชอบแอมป์วัตต์เยอะ เพราะเสียงมันจะพุ่งออกไปมากจนฟังไม่ดีกว่าจะออกมาครบๆ กลางแหลมจะดังจนฟังไม่เพราะ เบสส์จะตามไม่ทัน ที่แปลกคือกับ C 268 ที่ 80 วัตต์ ผมไม่พบว่ามีอาการนั้น เพราะเสียงออกมากลมกล่อมน่าฟังได้แม้จะเปิดไม่ดังมาก หรือเปิดที่ความดังสูง ก็ยังสามารถควบคุมโทนัล บาลานซ์ ได้ดีตลอด
สุดท้ายเป็นจุดที่ผมชอบมาก คือ องค์รวมของ C 268 นั้น ให้เสียงที่สามารถฟังได้นานมาก ผมสังเกตว่าชั่วโมงการฟังเพลงของผมเพิ่มขึ้นมาเอง เพราะเสียงที่ได้ยินนั้นมันฟังแล้วผ่อนคลาย ฟังได้นาน ไม่เครียด ไม่ล้า เป็นการบ่งบอกถึงการแมทชิง ซิสเต็ม ที่ลงตัวให้เสียงในแบบที่เราชอบนั่นเอง
สรุป
NAD C 268 เป็นเพาเวอร์-แอมป์ ที่ทรงคุณค่ามากๆเครื่องหนึ่ง ข้อดีคือ มันสามารถที่จะต่อเติมขยายระบบออกไปได้หลายรูปแบบ ที่ผมดูและลงตัวที่สุด น่าจะเป็นการนำมาใช้งานร่วมกับ Network Player/Preamp เยี่ยมๆ อย่าง NAD C 658 ก็จะได้ระบบที่ลงตัวมากๆ ใครถามตรงนี้บอกเลยว่าคุ้มค่าน่าเล่นกว่าใช้อินติเกรตเตด แอมป์ ตัวเดียวแน่นอน แถมพอใช้ไปสักพัก เพิ่ม C 268 อีกตัว จะเล่นไบแอมป์ หรือโมโน แอมป์ ก็ได้ (ผมเชียร์ เล่นแบบไบ-แอมป์ มากกว่า) ก็จะได้ระบบที่ลงตัว และเล่นได้กับแทบจะทุกลำโพงเลยก็ว่าได้
ด้วยราคาที่ผมว่าคงไม่สูงมากอะไรนัก ผมว่ามันคือตัวเลือกต้นๆในระดับราคานี้ที่พร้อมจะให้ความคุ้มค่าเกินราคามากที่สุดเครื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะหาเพาเวอร์-แอมป์ไปเข้าระบบแบบไหน ผมแนะนำให้หาโอกาสไปฟัง C 268 เครื่องนี้ให้ได้ครับ By อธิวัฒน์