รีวิว NAD M28 : Seven Channel Power Amplifier

2835 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นักเล่นเครื่องเสียงระดับออดิโอไฟล์ยุคก่อน มักจะมองข้ามแอมป์ Class-D เพราะเข้าใจว่าในการทำงานของภาคขยายเสียงนั้น มักจะมีความสูญเสียเชิงเส้นเกิดขึ้น อันนำมาซึ่งความอ่อนด้อยของคุณภาพเสียง ที่แตกต่างไปจากการทำงานของแอมป์ Class A/B ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนยังเข้าใจผิดว่าอักษร D นั้น หมายถึง Digital ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานในรูปแบบ Class-D นั้น มีประโยชน์มากมาย ทั้งยังมีประสิทธิภาพอันโดดเด่นแฝงเอาไว้ สำคัญอยู่ที่การออกแบบและนำมาใช้ประโยชน์ต่างหาก

ซึ่งนั่นคือเคล็ดลับที่ NAD ได้ค้นพบ และประสบความสำเร็จในการนำมาใช้กับเครื่องระดับสุดยอด ที่เป็นพัฒนาการล่าสุด คือ Model M28 ซึ่งเป็นแบบ Multi-Channel Power Amplifier



               ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะของ Purifi แห่งเดนมาร์ก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นเลิศทางด้านนี้ ทั้งยังกอปรด้วยกูรูระดับหัวกะทิในการออกแบบแอมป์อย่าง Peter Lyngdrof ที่มิเพียงเป็นเจ้าของ Lyngdrof Audio เท่านั้น หากยังเคยเป็นผู้ถือครอง NAD มาก่อนอีกด้วย ต่างได้ร่วมกันรังสรรค์ผลงานที่ผสมผสานความโดดเด่นในแง่ของประสิทธิภาพการทำงาน และภาคขยายพลังเสียงของ Class-D กับการทำงานในแง่ของการตอบสนองความถี่ และความโปร่งใสของเสียงของ Class-A/B เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว

               ซึ่งนั่นคือความใฝ่ฝันที่จะก้าวไปให้ถึงของ NAD ที่ได้กรุยทางผ่านมาก่อนด้วยแอมป์มัลติ-แชนเนล Class-D รุ่นก่อนหน้านี้ คือ Model M27 ที่ได้ใช้กุญแจสำคัญคือ Hypex nCore Technology

               กับพัฒนาการล่าสุด Model M28 ได้ใช้ชุดโมดูล Purifi Eigentakt เข้ามาแทนที่ Hypex nCore พร้อมทำงานร่วมกับภาคเพาเวอร์ ซัพพลาย ที่เป็นความโดดเด่นของ NAD เสริมการทำงานด้วยการใช้ Hybrid Digital Technology ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ NAD M28 เป็นแอมป์ที่ไม่เกี่ยงการทำงานไม่ว่าจะกับลำโพงหน้าไหนก็ตาม

            เกี่ยวกับภาคขยายของ Purifi Eigentakt นั้น มันมีบางสิ่งบางอย่างที่เราได้รับการบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย นั้นก็คือพฤติกรรมของฟิลเตอร์ในส่วนเอาท์พุทจะมีลักษณะการทำงานที่ละม้ายคล้าย หรือเกือบจะเหมือนกับ ‘อะนาล็อก’ เลยก็ว่าได้ ขณะที่ความแตกต่างนั้นจะอยู่ในช่วงขณะที่แอมป์กำลังเข้าสู่สภาวะการทำงานเกินตัว หรือขับเกินกำลัง (Clipping) ซึ่ง NAD พบว่าการใช้รูปแบบการทำงานของ Class-D ดั้งเดิมจะมีการทำงานที้ไม่เสถียรนัก ณ จุดนั้น แต่การทำงานของ Purifi Eigentakt จะมีความคล้ายกับ Class A/B มากกว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จึงทำให้มันสามารถควบคุมการทำงานขณะที่กำลังจะเกิดอาการคลิปปิงได้ดีกว่า

               ข้างต้นที่ว่ามาคือการบอกเล่า ส่วนจากนี้ไปจะเป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับ Specifications ละ

               NAD กล่าวอ้างว่ามันมีกำลังขับมากกว่ารุ่นก่อนหน้า คือ Model M27 ซึ่งมีอยู่ 180W x 7 (Ch) โดยได้ระบุว่า Model M28 มีกำลังขับแชนเนลละ 200W, ที่โหลด 8 โอห์ม ขณะการทำงานที่โหลด 4 โอห์ม จะให้กำลังขับสูงถึงแชนเนลละ 340W ซึ่ง NAD ระบุว่านี่คือการวัดค่าแบบเปิดเผยข้อมูลเต็ม ซึ่งเป็นการวัดที่แต่ละแชนเนลพร้อมๆ กัน ขณะที่เครื่องทำงานแบบ Full Bandwidth โดยวัดค่าความเพี้ยนฮาร์โมนิครวม (THD) ได้ที่ 0.003% ซึ่งหากยึดการวัดค่าตามมาตรฐานของ FTC (Federal Trade Commission: คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง) แห่งสหรัฐอเมริกาแล้ว มันสามารถระบุได้ว่าแต่ละแชนเนลนั้นมีกำลังขับสูงถึง 240W

 

Heavy Listening

            Model M28 ดูจะไม่แตกต่างไปจากรุ่นก่อน แต่นั้นก็หาใช่เรื่องเลวร้ายอะไร เพราะว่าในฐานะของการเป็นเพาเวอร์-แอมป์แล้ว มันก็ถือได้ว่าเป็นเครื่องที่ได้รับการออกแบบมาอย่างงดงามและประณีตพิถีพิถันดี โครงสร้างตัวถังขึ้นรูปด้วยโลหะที่ดูบึกบึน มั่นคง แข็งแกร่ง โดดเด่นสะดุดตาด้วยผิวที่ขัดเสี้ยน สีเงิน พร้อมแผงช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ที่ฝาหลังเครื่อง เพราะแม้จะทำงานใน Class-D มันก็เกิดความร้อนขึ้นมาได้บ้างเช่นกัน

            เครื่องมีแท่นรองที่มุมใต้ฐานทั้งสี่จุด เสริมด้วยขารองแบบแม่เหล็กสำหรับวางบนพื้นผิวเพื่อไม่ให้เกิดรอยขีดข่วน เพื่อความเหมาะสมสามารถใช้ Model M28 หนึ่งหรือสองเครื่องทำงานร่วมกับ NAD M17 V2 Master Series ซึ่งเป็น Preamp/Processor ที่สามารถถอดรหัสสัญาณเสียงแบบมัลติ-แชนเนลได้ถึงระบบ 11.1

            แผงด้านหน้าเครื่องก็เป็นเช่นเครื่องในตระกูล Master series ที่เรียบหรู ดูดี ด้วยแผงหน้าปัดสีดำซึ่งจะมีอักษร NAD เรืองแสงแสดงสถานะต่างๆ ด้วยสีที่แตกต่างกันไป โดยเมื่ออยู่ในโหมดแสตนด์-บายจะเป็นสีเหลืองอำพัน ขณะทำงานเป็นอักษรสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อมีไฟฟ้าลัดวงจร ควบคุมการทำงานด้วยระบบแตะสัมผัส ซึ่งสวิทช์ตำแหน่งเปิด/ปิดเครื่องจะอยู่ที่ด้านบน การตอบสนองของระบบแตะสัมผัสนี้ค่อนข้างจะช้าเล็กน้อย จนบางครั้งทำใก้เกิดความไม่แน่นใจว่าเราได้แตะสั่งการทำงานของมันแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตาม, เพื่อตัดความกังวลที่ว่านั้น เราสามารถเชื่อมต่อกับปรี/โพรเซสเซอร์ผ่านทาง 12V Trigger ได้อย่างสะดวก

               ที่แผงหลังมีช่องเสียบอินพุทให้ทั้งแบบ Single-End RCA และ Balanced XLR อย่างละ 7 ชุด พร้อมสวิทช์เลือกการทำงานของแต่ละอินพุทกำกับเอาไว้พร้อมสรรพ

               สำหรับขั้วต่อสายลำโพงทั้ง 7 ชุด เป็นแบบ Binding-Post เคลือบทองคุณภาพสูง และมีความแข็งแรงมั่นคงมาก พร้อมทำงานกับสายลำโพงแบบ Heavy-Gauge และรองรับขั้วเสียบแบบ Banana Plug ได้ถึงขนาด 4mm.

 

Easy Listening

            ผมเชื่อมต่อมันเข้ากับเครื่องโพรเซสเซอร์ที่ปกติใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิง คือ Lyngdorf MP-60 ผ่านทาง XLR ด้วยระบบ 7.2 ที่ประกอบไปด้วยชุดลำโพงของ M&K ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการทำงานของ NAD นั้น นอกจากจะเปี่ยมไปด้วยพลังที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำงานกับลำโพงโหลด อิมพีแดนซ์ 4-โอห์ม ได้อย่างสบายๆ แบบไม่มีออกอาการกังวลใดให้เห็นแม้แต่น้อย

            อัลบัมบลู-เรย์ ดิสค์ แทร็คแรกที่ผมใช้ลองคือ Saucerful of Secret ของ Nick Manson ซึ่งอยู่ในอัลบัมบันทึกการแสดงสดที่ The Roundhouse ที่บันทึกมาในแบบ 5.1 LPCM ซึ่งปลอดการบีบอัดอย่างสิ้นเชิง NAD M28 พาผมทะยานเข้าไปในงานดนตรีนั้นอย่างมีอารมณ์ร่วม และเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวากับงานดนตรีสไตล์ Psychedelic Classic ของ Pink Floyd ในยุค 60s และเหมือนกับว่าพวกเขากำลังบรรเลงเล่นอยู่เบื้องหน้าผมนี่เอง

               แอมป์เครื่องนี้ให้การทำงานที่รวดเร็ว และมีความโปร่งใสมาก สามารถรังสรรค์บรรยากาศเสียงรายรอบออกมาได้อย่างสมจริงมาก ทั้งยังสามารถสื่อรายละเอียดต่างๆ ออกมาได้อย่างหมดจดและน่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะกับสิ่งต่างๆ ที่คีย์บอร์ดให้ออกมาจากแทร็ค See Emily Play รวมทั้งเสียงของกลุ่มเพอร์คัสชันที่เป็นเอกลักษณ์ของแมนสัน ที่ให้ออกมาอย่างโดดเด่นในแทร็ค Interstellar Overdrive ทั้งยังสามารถรับมือกับงานเรียบเรียงเสียงประสานอย่างยิ่งใหญ่ในแทร็ค Atom Heart Mother ได้อย่างสบายมือ แอมป์สามารถรังสรรค์กำแพงเสียงที่ด้านหน้าออกมาได้อย่างโอ่อ่า ยิ่งใหญ่ และให้ออกมาอย่างโอบล้อม ชนิดที่บอกได้เลยว่า – นั้นละ, คือบรรยากาศเสียงอย่างที่บรรดาออดิโอไฟล์ส่วนใหญ่เค้าใฝ่ฝันอยากจะได้สัมผัสกัน



               กับซาวน์ดแทร็คเรื่อง Free Fire แผ่นบลู-เรย์ ที่มีฉากเด่นอยู่ในซีนยิงกันอย่างยาวนานอยู่ในโกดัง ซึ่งบันทึกมาในแบบ 5.1 นั้น มันสื่อความระเบิดระเบ้อโกลาหลของเสียงราวกับยิงพลุขีปนาวุธออกมาได้อย่างน่าเร้าใจ ให้เสียงกระหึ่มและกังวานก้องภายในห้องเสมือนตกอยู่ในโกดังแห่งสงครามนั้นด้วยความระทึกใจยิ่ง และสิ่งที่ M28 นำเสนอออกมานั้นมันให้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมากทั้งในแง่ของไดนามิค และความกลมกลืนของเสียงที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

               ผมทดสอบความโดดเด่นของคุณภาพเสียงที่กล่าวถึงข้างต้นอีกครั้งกับแผ่น 4K ที่เชื่อถือได้อย่าง A Quiet Place ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่มี Dynamic Rage เป็นชื่อของเกม และ M28 สามารถนำเสนอ ‘ความเงียบ’ ในรูปแบบต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันน้อยมากออกมาให้รับรู้ได้ อย่างชนิดที่ต้องบอกว่ามันสมจริงจนชวนให้จิตใจไหวสั่นพาให้หวั่นหวาดเป็นอย่างมาก และในทันทีทันใดเมื่อมีเสียงดังขึ้นมา มันก็ชวนให้ระทึกจนอกสั่นขวัญแขวน อย่างเช่นฉากที่จู่ๆ เจ้าสัตว์ประหลาดโผล่ขี้นมาโจมตีนั้น จากความเงียบก็กลายเป็นเสียงคำรามอันกึกก้องที่ดังชึ้นมาอย่างกระทันหัน ซึ่งเป็นกังวานเสียงที่ชวนให้สะพรึงเป็นอันมาก

            ผมให้รู้สึกทึ่งที่พบว่าแอมป์เครื่องนี้สามารถให้พลังออกมาได้มากมาย หลังจากให้มันทำงานขับทั้งเจ็ดช่องสัญญาณออกมาอย่างรุนแรง ซึ่งกับการทดสอบที่ว่านั้นไม่มีอะไรดีไปกว่านำแผ่น ‘สงครามเกมคนอัจฉริยะ’ หรือ Ready Player One แผ่น Blu-ray 4K มาลอง และพบว่าความสามารถในการทำงานพร้อมๆ กัน ทั้ง 7-แชนเนล ของแอมป์เครื่องนี้มันน่าทึ่งมาก เพราะแต่ละช่องสัญญาณต่างสำแดงประสิทธิภาพระหว่างการแข่งขันของเกมที่เต็มไปด้วยความดุเดือดออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบมาก

            เพราะเมื่อเทียบกับแอมป์ที่ผมใช้อยู่ในเวลาปกติ คือ Emotiva XPA-11 ซึ่งเป็นรุ่นที่ใครก็สามารถเป็นเจ้าของได้นั้น เมื่อลองเล่นกับแผ่นนี้แล้วมันทำงานเหมือนถูกเค้นพลังออกมาแบบแทบจะไม่มีอะไรให้เหลือติดค้างอยู่ในเครื่องเครื่องเลย ซึ่งต่างจาก NAD ที่ไม่ว่าเสียงจะถูกมิกซ์มาซับซ้อนแค่ไหน มันก็สามารถให้ออกมาแบบเติมเต็มเวทีเสียงได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นฉากไหน ซีนใด มันก็สามารถนำเสนอออกมาได้อย่างยิ่งใหญ่และเปี่ยมไปด้วยพลัง ทั้งยังให้ความเพลิดเพลินตลอดเกมแบบชวนให้ติดตามอย่างสนุกสนาน

Dynamic Class-D

          มีเอกลักษณ์ของเสียงที่ชัดเจนและโปร่งใสอย่างชนิดที่มิอาจปฏิเสธได้ ทั้งยังสื่อออกมาให้สัมผัสได้อย่างแม่นยำ เที่ยงตรง อุดมไปด้วยรายละเอียด และเสมือนมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าภายในเครื่อง ที่สามารถส่งพลังออกมาได้อย่างต่อเนื่อง สัมผัสได้ถึงการตอบสนองต่อสัญญาณความถี่เสียงที่เหลือเชื่อมาก ผลก็คือไม่ว่าจะเป็นเสียงจากดนตรีหรือซาวน์แทร็คต่างก็ให้ออกมาอย่างน่าฟัง เสมือนจริง และสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ NAD M28 ก็คือเรื่องของไดนามิค เรนจ์ ที่มันให้ออกมาอย่างน่าทึ่งแบบที่กล่าวได้ว่ามากเกินต้องการจริงๆ

            หากใครคิดเป็นเจ้าของเพาเวอร์-แอมป์เครื่องนี้ รับรองได้ว่าจะไม่มีวันผิดหวังอย่างเด็ดขาด

          มันเป็นเครื่องที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ให้การทำงานตอบสนองความถี่ได้ฉับไว แต่ละแชนเนลทำงานกับโหลด อิมพีแดนซ์ ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย แบบสบายๆ อาจจะดูว่ามีราคาสูง แต่ประสิทธิภาพของมันนั้นช่างสูงส่งยิ่งจริงๆ



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้